โค้ชชี่ร้องไห้…โค้ชทำไงดี??

Posted: December 17, 2012 in Uncategorized

14892-crying-1353754208-873-640x480เหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นมาในระหว่างที่ผมโค้ชงานเร็วๆ นี้เองครับ เราคุยกันทั่วไปถึงเป้าหมายในงานข้อหนึ่งของโค้ชชี่ที่เป็นผู้บริหารระดับต้นและเป็นดาวเด่นขององค์กร ในช่วงที่ทำการพัฒนากลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ผมได้ใช้คำถามต่างๆ เพื่อให้โค้ชชี่คิดถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่จะช่วยให้เขาเกิดความตระหนักรู้ แล้วก็มาถึงจุดที่โค้ชชี่เองได้พรั่งพรูกับเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในใจ จากนั้นก็เริ่มกระพริบตาถี่ขึ้นและชำเลืองตามองขึ้นข้างบน แต่เขาก็ไม่สามารถกลั้นน้ำตาได้…

การที่โค้ชชี่ร้องไห้เพราะความสะเทือนใจในช่วงการโค้ชงานเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะในกรณี Life Coaching หรือ Executive Coaching ในบางครั้ง เพราะผู้รับการโค้ชมีความไว้วางใจในกระบวนการและในตัวโค้ช ระบบความคิดจึงไม่ใช้ตัวคุ้มกันอารมณ์ (guard) มาหยุดยั้งตนเองเท่าที่ควร ส่วนโค้ชทั้งหลายก็คงไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นระหว่างการโค้ชงานโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่โดยทั่วไปมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอย่างกระทันหัน ดังนั้นโค้ชควรมีทักษะและวิธีการรับมือที่ถูกต้องกับสถานการณ์เช่นนี้

ประการแรกเลย โค้ชที่ดีต้องละเอียดและเก่งเรื่องการสังเกตพฤติกรรมทั้ง “ภายใน” และ “ภายนอก” ตลอดจนพฤติกรรมที่เป็น “การกระทำ” และ “การละเว้นการกระทำ” ของโค้ชชี่ ในกรณีที่โค้ชชี่เริ่ม “ออกอาการ” สะเทือนใจและอาจตามมาซึ่งการร้องไห้นั้น โค้ชคงพอสังเกตเห็นได้แต่เนิ่นๆ และอาจมีทางเลือกเพื่อรับมือ “ก่อน” ที่โค้ชชี่จะร้องไห้ ดังกล่าวตามนี้

1.  เปลี่ยนหรือเบี่ยงประเด็นการสนทนาที่จะนำไปสู่ความสะเทือนใจ อย่าให้เขาลงลึกกับเรื่องปัญหาหรืออารมณ์

2.  ตรวจสอบกับโค้ชชี่ว่าเขาต้องการรับโค้ชต่อในประเด็นการสนทนาเดิมหรือไม่อย่างไร ถ้าเขาต้องการจึงค่อยดำเนินต่อไป ถ้าเห็นเขาลังเลอาจหยุดพักสักครู่

3.  ดำเนินการสนทนาในเรื่องเดิมต่อไปอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์โดยไม่มีการหยุด เพราะอาจเป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับการโค้ชครั้งนี้

อย่างไรก็ตามไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวสำหรับทุกสถานการณ์หรอกครับ ความท้าทายจึงตกอยู่กับโค้ชในสถานการณ์นั้นๆ ว่าจะตัดสินใจเลือกใช้ข้อไหนให้ลงตัวโดยดูว่าอะไรน่าจะเป็น “ประโยชน์แก่โค้ชชี่มากที่สุด”

สิ่งที่โค้ชควรทำเมื่อโค้ชชี่ร้องไห้ระหว่างการโค้ช

1.  วางตัวเป็นผู้ฟังที่ดีโดยเชื่อมั่นในศักยภาพของโค้ชชี่ว่าถึงแม้จะมีอุปสรรคมาทำร้ายจิตใจแต่เขาสามารถที่จะฟันฝ่าไปได้แน่นอน คงไว้ซึ่งสีหน้าที่ตั้งใจฟังประเด็นของโค้ชชี่อย่างตั้งใจและความเคารพในสถานการณ์มากขึ้นกว่าปกติตามความเหมาะสม โค้ชควรแค่ส่งแรงใจที่เป็นพลังเชิงสร้างสรรค์ภายในจิตใจตนเองให้โค้ชชี่

2.   ควบคุมอารมณ์ของตนเองเพื่อให้ไม่มีอารมณ์ร่วมกับโค้ชชี่  โค้ชในทางตรงกันข้ามควรดึงอารมณ์หรือจิตที่ตกของโค้ชชี่ให้มาอยู่ในภาวะปกติ เพราะการแสดงออกซึ่งอารมณ์เหล่านี้ออกมานั้นจะทำให้คนเราติดอยู่กับห้วงแห่งอารมณ์ (drama) และจะคิดไม่เป็นระบบ ผมได้ยินว่าโค้ชบางคนที่ใช้เทคนิค mirroring โดยเป็นกระจกเงาสะท้อน เช่น โค้ชชี่ร้องไห้ก็ร้องไห้ตามไปด้วยไม่ว่าจะตั้งใจหรืออารมณ์พาไป ผมมองว่าเป็นการไม่ถูกต้องตามหลักการจัดการอารมณ์อย่างมาก

3. ไม่ควรปลอบโยนโค้ชชี่ด้วยคำพูดหรือการสัมผัสตัว ข้อนี้อาจดูขัดใจหลายคนที่คิดว่าเมื่อเขาเสียใจก็ต้องปลอบใจ ทั้งนี้การปลอบโยนด้วยคำพูด เช่น ไม่ต้องเสียใจครับ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง ฯลฯ และ การปลอบโยนด้วยการสัมผัสตัวโค้ชชี่ เช่น การโอบตัว แตะมือ แตะไหล่ ถือเป็นการเสริมแรงความเศร้าสะเทือนใจในทางไม่สร้างสรรค์ให้แก่โค้ชชี่โดยที่โค้ชไม่ได้ตั้งใจและทำไปด้วยความหวังดี การปลอบโยนเหล่านี้กลับกลายเป็นดาบมาทำร้ายโค้ชชี่เพราะทำให้โค้ชชี่เก็บสะสมในจิตใต้สำนึกว่าตัวเองมีความทุกข์และแม้แต่โค้ชก็ยังมองสิ่งนั้นว่าเป็นความทุกข์ ส่วนการให้กำลังใจอย่างอื่น เช่น ผมเชื่อว่าคุณทำได้ ให้ใช้ตามความเหมาะสมที่ไม่ให้โค้ชชี่ตีความว่าเป็นการปลอบโยน

4. เมื่อโค้ชชี่อยู่ในภาวะที่มั่นคงเป็นปกติมากขึ้นโดยหยุดร้องไห้แล้วนั้น โค้ชควรใช้ถามคำถามที่นำโค้ชชี่ออกจากปัญหา โดยมุ่งไปสู่ทางออก โดยใช้คำถามประเภทเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิด (Cognitive Change) ของโค้ชชี่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบ

  • การถามแบบ Labeling เป็นการติดฉลากอารมณ์ ให้ผู้รับการโค้ชเองตระหนักถึงอารมณ์ของตนที่มีต่อประเด็นการโค้ชงานต่างๆ เป็นระยะๆ แล้วระบายอกมาเป็นคำพูดหรือปฏิกริยาตอบสนองต่างๆ
  • การถามแบบ Reappraisal เพื่อมองมุมใหม่ (reframe) เป็นการมองสิ่งเดิมในมุมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้รับการโค้ชมองเข้าไปยังสถานการณ์หรือประเด็นที่รับการโค้ชอยู่จากมุมมองอื่น
  • การถามแบบ Mindfulness เป็นคำถามที่เกี่ยวกับ “สติของผู้รับการโค้ชที่มีอยู่ต่อเหตุการณ์และประสบการณ์ในปัจจุบัน คำถามต่อไปนี้จะทำให้เขาค้นพบปัญญาที่เกิดขึ้นใหม่จากสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อโค้ชใช้คำถามต่างๆ ข้างต้นที่เกี่ยวกับ อารมณ์ สถานการณ์ สัมผัสทางร่างกาย หรือ ประสบการณ์ต่างๆ ของโค้ชชี่  จะทำให้ระบบสมองที่ควบคุมอารมณ์ (limbic system) ของเขาคลายตัวลงและจะสามารถตอบโต้กับส่วนการจำ (prefrontal cortex) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่เขาเกิดอาจปัญญาในแต่ละสถานการณ์ที่เขากำลังคิดอยู่ด้วยความชัดเจน

ในบางสถานการณ์ที่เหมาะสมโค้ชอาจใช้เทคนิค (Meta-reflection) เพื่อสำรวจโค้ชชี่ว่ามีความรู้สึกอย่างไรเมื่อร้องไห้ การร้องไห้มีผลอย่างไรกับส่วนไหนของร่างกาย อะไรทำให้โค้ชชี่เกิดการสมดุลย์ทางอารมณ์และหยุดร้องไห้

สิ่งที่โค้ชไม่ควรทำเมื่อโค้ชชี่ร้องไห้ระหว่างการโค้ช

 1.    แสดงออกว่าตนเองรู้สึกอึดอัดหรือไม่อยากอดทนเมื่ออยู่ต่อหน้าคนที่กำลังร้องไห้

2.    ละเลยและไม่ใส่ใจกับอารมณ์ของโค้ชชี่ในขณะนั้นเพราะตนเองรู้สึกไม่สะดวกใจกับการจัดการอารมณ์ของคนที่กำลังร้องไห้

3.    คิดว่าตนเองเป็นผู้มาช่วยเหลือเพื่อปลอบประโลมโค้ชชี่เวลาเขามีความทุกข์ เพราะตามความเป็นจริงโค้ชไม่ใช้ผู้ปกครองหรือพระเจ้าที่มาคอยช่วยเหลือโค้ชชี่

4.   บางคนบอกว่าโค้ชไม่ควรแม้ส่งกระดาษทิชชู่ให้โค้ชชี่ซับน้ำตา เพราะถือเป็นการเสริมแรงความทุกข์ให้เขา ทางปฏิบัติโค้ชบางคนพกพาทิชชู่ไปด้วย สำหรับผม ถ้าโค้ชในออฟฟิซของผมเอง จะมีกล่องทิชชู่อยูใกล้ๆ ที่นั่งของโค้ชชี่ที่เขาสามารถหยิบเองได้ ถ้าโค้ชข้างนอกสถานที่ ผมจะไม่เตรียมทิชชู่ไปด้วยครับ คงต้องให้โค้ชชี่เขาดูแลตนเองตามความเหมาะสม

น่าสนใจนะครับกับวิธีการและทักษะของโค้ชที่อาจแตกต่างกับผู้ที่อยู่ในบทบาทอื่นในสถานการณ์เดียวกัน โค้ชชาวไทยหลายคนอาจกลัวว่าโค้ชชี่จะเข้าใจผิดว่าตนเองใจร้ายใจดำเพราะไม่ปลอบโยนโค้ชชี่ขณะที่เขาร้องไห้ สิ่งที่โค้ชอาจทำได้คือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อนตั้งแต่การโค้ชงานช่วงต้นๆ (placement) หรือ ทำการอธิบายถึงที่มาที่ไปของพฤติกรรมดังกล่าวของตนหลังการโค้ชงาน (debrief) เพื่อให้โค้ชชี่เข้าใจที่มาที่ไปก็ได้

สมัยที่ผมเป็นผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผมผ่านการเลิกจ้างพนักงานมานับเป็นพันคน หลายครั้งที่ผมมีอารมณ์ร่วมหรือร้องไห้ไปกับพวกเขา แต่ในบทบาทการเป็นโค้ช ผมต้องเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้โค้ชชี่ของผมเกิดความเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง

 

ดร. เทอดทูน ไทศรีวิชัย

President

International Coach Federation – Bangkok Chapter

http://www.coachfederation.org

Leave a comment